Home บทความ Free Zone แผ่นดินทอง ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ตอนที่ 1
แผ่นดินทอง ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ตอนที่ 1
Article Index
แผ่นดินทอง ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ตอนที่ 1
หน้า #
หน้า #
หน้า #
All Pages
เวลาผ่านไปไวเหมือนติดจรวด อีกไม่กี่เดือนก็จะสิ้นปี 2549 กันแล้ว ตอนนี้เชื่อว่าหลายคนคงจะวางแผนพักผ่อนปลายปี เพื่อสัมผัสธรรมชาติ ที่ธรรมชาติรังสรรค์ ปั้นแต่งด้วยตัวธรรมชาติเอง แต่คราวนี้ไปไหนดี อยากจะชวนทุกคนสัมผัสสิ่งที่สร้างจากน้ำมือมนุษย์กันบ้าง ว่าเห็นเป็นเช่นไร
วลาผ่านไปไว เหมือนติดจรวด อีกไม่กี่เดือนก็จะสิ้นปี 2549 กันแล้ว ตอนนี้เชื่อว่าหลายคน คงจะวางแผนพักผ่อนปลายปี เพื่อสัมผัสธรรมชาติ ที่ธรรมชาติรังสรรค์ ปั้นแต่งด้วยตัวธรรมชาติเอง แต่คราวนี้ไปไหนดี อยากจะชวนทุกคน สัมผัสสิ่งที่สร้างจากน้ำมือมนุษย์กันบ้าง ว่าเห็นเป็นเช่นไร

จากหนองงูเห่า
ทุ่งกว้างบนเนื้อที่กว่า 20,000 ไร่ ซึ่งเคยเป็นแหล่ง เกษตรกรรม ทำนาปลูกข้าว เลี้ยงปลา พื้นที่รองรับน้ำ ของกรุงเทพมหานคร และเป็นที่อยู่อาศัย ของบรรดาสัตว์เลื้อยคลานในอดีต รวมถึงฝูงนก ในยามพลัดถิ่น กำลังจะเปลี่ยนเป็นศูนย์กลาง การบินของภูมิภาคที่ทันสมัย และยิ่งใหญ่ที่สุดในเอเชียอาคเนย์ ด้วยเป็นชัยภูมิอันเหมาะสม จากการศึกษา และคัดเลือกของกรมการบินพาณิชย์ กระทรวงคมนาคม ในปี พ.ศ.2503 ช่วงเวลาดังกล่าว เป็นจุดเริ่มต้น ของการวางแผนท่าอากาศยานแห่งนี้

เนื่องจากสภาพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ ร่างแผนแม่บท การพัฒนาประเทศฉบับแรกของไทย ในการนั้นได้ทำการศึกษา และวางผังเมืองกรุงเทพมหานคร ผลของการศึกษาส่วนหนึ่ง ชี้ให้เห็นความสำคัญ ที่กรุงเทพจะต้องมีสนามบินพาณิชย์ใหม่อีกแห่ง เพื่อแยกเครื่องบินพลเรือน ออกจากเครื่องบินทหาร ซึ่งตามหลักยุทธศาตร์แล้ว การใช้สนามบินร่วมกันนั้นไม่เหมาะสมนัก และอีกประการหนึ่ง คือ กรุงเทพจำเป็นต้องมีสนามบินพาณิชย์แห่งที่ 2 และได้เสนอพื้นที่ก่อสร้าง ให้อยู่บริเวณทิศตะวันออกของกรุงเทพ ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้น ของแนวความคิดในการก่อสร้าง สนามบินนานาชาติแห่งใหม่ของประเทศไทย แทนสนามบินดอนเมือง ที่มีแนวโน้มว่าจะคับแคบ และไม่เพียงพอสำหรับอุตสาหกรรมการบินของโลก ที่เติบโตขึ้นอย่างไม่หยุดยั้ง

สนามบินแห่งนี้ ไม่เพียงแต่กินพื้นที่กว้าง แต่ยังใช้เวลา ในการดำเนินการ เกือบครึ่งศตวรรษ โดยผ่านคณะรัฐบาล 31 คณะ และนายกรัฐมนตรี 15 คน ความล่าช้านั้น เป็นผลจาก ปัจจัยหลายประการ ทั้งการให้ความสำคัญ ของแต่ละรัฐบาล บางยุคมีการเปลี่ยนแปลง ทางการเมือง ซึ่งเคยมีการพิจารณา คัดเลือกสถานที่อื่น ๆ ที่เหมาะสม นอกเหนือจากหนองงูเห่า ในสมัย พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ปรากฎว่ามีบริเวณที่เหมาะสม 7 แห่ง คือ
1.บริเวณพื้นที่ อำเภอลาดหลุมแก้ว และอำเภอลาดบัวหลวง จังหวัดปทุมธานี
2.พื้นที่ด้านทิศใต้ ของอำเภอไทรน้อย จังหวัดนนทบุรี ต่อกับจังหวัดนครปฐม
3.บริเวณดอนเมือง
4.บริเวณพื้นที่ ด้านทิศเหนือ ของเขตหนองจอก

5.หนองงูเห่า
6.บริเวณพื้นที่ ด้านทิศเหนือ ของอำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ
7.บริเวณพื้นที่ ด้าน ทิศตะวันออกเฉียงใต้ ของอำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ

ผลการคัดลือกพื้นที่ครั้งที่ 2 คงเหลือบริเวณที่เหมาะสม 3 แห่ง คือ บริเวณไทรน้อย ดอนเมือง และหนองงูเห่า ผลการคัดเลือกพื้นที่ ครั้งที่ 3 คงเหลือ 2 แห่ง คือ ดอนเมืองและหนองงูเห่า และเมื่อผลการคัดเลือก ครั้งสุดท้ายมาถึง ในปี พ.ศ.2521 รัฐบาลก็ได้ข้อสรุปว่า"เราเสียเวลาไป รวมทั้งสิ้น 19 ปี เพียงเพื่อจะกลับมา สู่จุดเริ่มต้นว่า หนองงูเห่า คือ บริเวณที่เหมาะสมที่สุด ในการก่อสร้างสนามบินพาณิชย์แห่งใหม่"


สู่สุวรรณภูมิ
ชื่อของ สนามบินสุวรรณภูมิ มีความหมายว่า "แผ่นดินทอง" เป็นชื่อพระราชทาน โดยพระบาท สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เมื่อวันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2543 และเสด็จพระราชดำเนิน ทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ อาคารผู้โดยสารท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ในวันที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2545

สถาปนิกผู้ออกแบบอาคาร คือ เฮลมุต จาห์น ชาวอเมริกัน-เยอรมัน และบริษัทเมอร์ฟีจาห์น สำนักงานใหญ่ที่ชิคาโก ผู้ซึ่งออกแบบสนามบินชิคาโก และตึกโซนี่เซ็นเตอร์ ที่ประเทศเยอรมัน ซึ่งแบบอาคารสนามบิน ได้ถูกปรับเปลี่ยน ขนาดอาคาร และวัสดุจากแบบเดิมไปในหลายส่วน เช่น เพิ่มยักษ์ และสถาปัตยกรรมไทย โดยสถาปนิกชาวไทย

กำหนดเปิดใช้งานวันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2549 และมีกำหนดการ ใช้งานแทน ท่าอากาศยานกรุงเทพ ที่ดอนเมือง หลังดำเนินการระยะหนึ่ง โดยนโยบายรัฐบาลได้กำหนด ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เป็นท่าอากาศยานหลัก ของประเทศ และจะเป็นศูนย์กลางการบิน ในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์

ท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ ตั้งอยู่ที่ ถนนบางนาตราด กิโลเมตรที่ 15 อยู่ในเขตตำบลราชาเทวะ อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งอยู่ห่างจากใจกลางกรุงเทพมหานคร 25 กิโลเมตร

จากรถยนต์ ...สู่เครื่องบิน
การเข้าถึงสนามบินสุวรรณภูมิ สามารถเข้าถึงได้โดยทางรถยนต์ รถโดยสารประจำทาง ของ ขสมก. 6 สาย ในอนาคตมีแผนก่อสร้างเส้นทางรถไฟฟ้า จากบริเวณสถานีมักกะสัน มายังสนามบินในชื่อ แอร์พอร์ตเรลลิงก์ (Airport Rail Link) ซึ่งอยู่ในระหว่างการก่อสร้าง ท่าอากาศยานมีทางเข้าออกทั้งหมด 6 เส้นทาง คือ
1.ทิศเหนือ เป็นถนนยกระดับขนาด 8 ช่องจราจร จากถนนกรุงเทพ-ชลบุรีสายใหม่ เข้าสู่อาคารผู้โดยสาร
2.ทิศตะวันตกเฉียงเหนือ เป็นถนนขนาด 6 ช่อง เชื่อมกับทางยกระดับ จากถนนร่มเกล้าและถนนกิ่งแก้ว
3.ทิศใต้ เป็นถนนขนาด 4 ช่องจราจร เชื่อมกับถนนบางนา-ตราด และทางด่วนบูรพาวิถี
4.ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นถนนขนาด 4 ช่องจราจร เชื่อมกับถนนอ่อนนุช
5.ทิศตะวันตก เป็นถนนขนาด 4 ช่องทางจราจร เชื่อกับถนนกิ่งแก้ว
6.(กำลังก่อสร้าง) รถไฟฟ้าขนส่งมวลชน สายพญาไท – มักกะสัน – สุวรรณภูมิ วิ่งเข้าสู่อาคารผู้โดยสาร มีสถานีรถไฟฟ้าใต้อาคารผู้โดยสาร


ไหน ๆ การเดินทางวันนี้ เราจะไปสนามบิน ที่สุดของเอเซีย ที่เป็นการขนส่งเพื่อมวลชน เราลองใช้บริการรถเมล์ ขนส่งมวลชนเช่นกันดีกว่า ซึ่งเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ที่น่าสนใจในการเดินทาง

รถโดยสารประจำทาง ของ ขสมก. 6 สาย ที่เชื่อมต่อสนามบินสุวรรณภูมิ
  • สาย 549 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ - บางกะปิ เริ่มต้นจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ไปตามถนนลาดกระบัง แยกขวาไปตามถนนร่มเกล้า แยกซ้ายไปตามถนนสีหบูรานุกิจ มีนบุรี แยกซ้ายเข้าถนนเสรีไทย สุดเส้นทางที่บางกะปิ
  • สาย 550 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ - แฮปปี้แลนด์ เริ่มต้นจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ไปตามถนนลาดกระบัง ถนนอ่อนนุช แยกขวาไปตามถนนศรีนครินทร์ แยกซ้ายไปตามถนนลาดพร้าว แยกขวาไปตามถนนแฮปปี้แลนด์ สุดเส้นทางที่แฮปปี้แลนด์
  • สาย 551 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ - อนุสาวรีย์สมรภูมิ (ทางด่วน) เริ่มต้นจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ไปตามทางพิเศษระหว่างเมือง (กรุงเทพฯ-ชลบุรีสายใหม่) ไปตามทางพิเศษศรีรัช ลงทางด่วนที่ด่านพระราม 9 ไปตามถนนพระราม 9 ถนนอโศก – ดินแดง ถนนราชวิถี สุดเส้นทางที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ
  • สาย 552 A ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ - อู่แพรกษา(สมุทรปราการ) เริ่มต้นจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ไปตามถนนบางนา-บางปะกง ถึงบางนาแยกซ้าย ไปตามถนนสุขุมวิท ผ่านสำโรง สุดเส้นทางที่สมุทรปราการ (อู่แพรกษา)
  • สาย 553 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ -สมุทรปราการ เริ่มต้นจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ แยกซ้ายเข้าถนนลาดกระบัง แยกซ้ายเข้าถนนวัดกิ่งแก้ว แยกขวาไปตามถนนบางนา-บางปะกง แยกซ้ายไปตามถนนศรีนครินทร์ แยกขวาไปตามถนนสุขุมวิท แยกซ้ายไปตามถนนสายลวด สุดเส้นทางที่สมุทรปราการ
  • สาย 554 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ - รังสิต (ทางด่วน) เริ่มต้นจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ไปตามทางพิเศษระหว่างเมือง (กรุงเทพ-ชลบุรีสายใหม่) แยกขวาไปตามถนนวงแหวนรอบนอก (ตะวันออก) แยกซ้ายไปตามถนนรามอินทรา ถนนแจ้งวัฒนะ แยกขวาไปตามถนนวิภาวดี ผ่านท่าอากาศยานกรุงเทพ สุดเส้นทางที่รังสิต
  • เมื่อถึง Bus Terminal (ศูนย์ขนส่งสาธารณะ) ภายในจะมีรถเวียน อยู่ 2 สาย คือ สาย A และ สาย B ที่จะพาชมบริเวณภายใน สนามบินสุวรรณภูมิ โดยไม่ต้องเสียสตางค์ และจะมีไกด์ที่ทางอากาศยานไทย จัดเตรียมไว้คอยแนะนำ ให้ผู้โดยสารรู้จักสนามบินสุวรรณภูมิมากยิ่งขึ้น ใช้เวลาประมาณ 20 นาที สำหรับรถเวียนในสุวรรณภูมิ จะหมดสองทุ่มตรง แต่สำหรับรถเมล์จะหมดประมาณสี่ทุ่ม

    ค่าโดยสารถึงสนามบินสุวรรณภูมิ 35 บาท

    ***ไม่สามารถเข้าไปภายในตัวอาคารได้ รถเมล์จะพาวนชมทั่วบริเวณเท่านั้น ถ้าจะเข้าไปบริเวณภายในตัวอาคาร ต้องทำเรื่องติดต่อกับทางท่าอากาศยานไทย


    ขนส่งมวลชนพาเที่ยว
    ถ้าบางคนไม่สะดวก ที่จะเดินทางวันธรรมดา สามารถเดินทางวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ได้ โดย ขสมก.มีโครงการท่องเที่ยววันหยุด ครอบครัวสุขสันต์กับบริการ ขสมก. 5 สาย คือ

  • บางเขน - ฉะเชิงเทรา - สุวรรณภูมิ สนามบินสุวรรณภูมิ (ไม่เข้าตัวอาคาร) วัดโพธิ์บางคล้า วัดเสม็ดเหนือ วัดหลวงพ่อโสธร วัดจีนประชาสโมสร(ตลาด 100 ปี) วัดอุญาติการาม วัดพยัคฆอินทราราม วัดสัมปทวนนอก วัดถวิลศิลามงคล วัดต้นตาล วัดสัมปทวนใน
    เวลาเดินทาง 08.00 - 18.00 น.
    ค่าบริการ 259 บาทต่อคน
    โทรศัพท์สำรองที่นั่ง 0-2552-0885
  • อู่บางเขน - สุวรรณภูมิ - สมุทรปราการ ชมสนามบินสุวรรณภูมิ (ไม่เข้าตัวอาคาร) ฟาร์มจระเข้สมุทรปราการ วัดลานบุญ (เจ้าแม่ไทรงาม) วัดหลวงพ่อโตบางพลีใหญ่ใน(ตลาดน้ำโบราณ) วัดบางพลีใหญ่กลาง (ไหว้พระนอน) รถออกจากอู่บางเขน (ทุกวันเสาร์)
    เวลาเดินทาง 08.30 - 17.00 น.
    ค่าบริการ 229 บาท ค่าเข้าฟาร์มจระเข้ 30 บาทรวม 259 บาทต่อคน
    โทรศัพท์สำรองที่นั่ง 0-2552-0885
  • แฟชั่นไอส์แลนต์ -สุวรรณภูมิ - ชลบุรี สนามบินสุวรรณภูมิ(ไม่เข้าตัวอาคาร) วัดจีนประชาสโมสร วัดซำปอกง วัดโสธรวราราม ศาลเจ้านาจา หาดบางแสน ตลาดหนองมน
    เวลาเดินทาง 08.00 - 18.00 น.
    ค่าบริการ 259 บาทต่อคน
    โทรศัพท์สำรองที่นั่ง 0-2919-8711
  • อู่วัดม่วง - สุวรรณภูมิ - ชลบุรีี หลวงพ่อโต สนามบินสุวรรณภูมิ ตลาดคลองสวน 100 ปี หลวงพ่อโสธร วัดจีนประชาสโมสร ตลาดหนองมน อ่างศิลา เขาสามมุก หาดบางแสน
    เวลาเดินทาง 08.30 - 19.30 น.
    ค่าบริการ 270 บาทต่อคน
    โทรศัพท์สำรองที่นั่ง 0-2454-1193
  • อนุสาวรีย์ชัยฯ - สุวรรณภูมิ - ฉะเชิงเทรา สนามบินสุวรรณภูมิ ตลาดคลองสวน 100 ปี วัดโสธรวราราม วัดโพธิ์บางคล้า(ชมค้างคาวแม่ไก่) ศาลพระเจ้าตากสินมหาราช
    เวลาเดินทาง 08.30 - 17.00 น.
    ค่าบริการ 259 บาทต่อคน มีอาหารและเครื่องดื่ม
    โทรศัพท์สำรองที่นั่ง 0-2948-3681
  • อย่างไรก็ตาม ขอเป็นกำลังใจ ให้เจ้าหน้าที่ทุกท่าน ที่ต้องปฏิบัติหน้าที่ อย่างเต็มความสามารถ เพราะทุกอย่าง เป็นหน้าเป็นตาของประเทศ การเริ่มต้นต้องมีการขลุกขลักบ้าง ทั้งเรื่องของอุปกรณ์ เครื่องมือเครื่องใช้ อาจต้องเสียเวลา ใช้เวลาทำรายการนานกว่าปกตินิดนึง แต่อย่างหนึ่ง ที่ไม่ได้เกี่ยวกับเทคโนโลยี่ที่ทันสมัย แต่มีติดตัวตัวอยู่กับทุกคน คือ การบริการ รอยยิ้ม เหมือนที่เรา ๆ ท่าน ๆ ได้ยินว่าเมืองไทยเป็นสยามเมืองยิ้ม เพียงเท่านี้ไม่ต้องมีคำว่าใหญ่ที่สุดในโลก ..ใหญ่ที่สุดในเอเซีย