Home บทความ Fashion Update เมืองสุรินทร์ ถิ่นผ้าโฮล
เมืองสุรินทร์ ถิ่นผ้าโฮล
เกษตรท่องเที่ยวหรือท่องเที่ยวเชิงเกษตรวันนี้ จะพาท่านไปเยือนสุรินทร์ถิ่นช้างไทย ผ้าไหมงาม ประคำสวย ร่ำรวยประสาท ผักกาดหวาน ข้าวสารหอม งามพร้อมวัฒนธรรม ซึ่งสุรินทร์เป็นหนึ่งในจังหวัดทางภาคอีสานตอนใต้ ที่ชายแดนติดประชิดกับกัมพูชา และมีประวัติศาสตร์ความ
เกษตรท่องเที่ยวหรือท่องเที่ยวเชิงเกษตรวันนี้ จะพาท่านไปเยือนสุรินทร์ถิ่นช้างไทย ผ้าไหมงาม ประคำสวย ร่ำรวยประสาท ผักกาดหวาน ข้าวสารหอม งามพร้อมวัฒนธรรม สุรินทร์เป็นหนึ่งจังหวัดในอีสานใต้ ชายแดนประชิดกับกัมพูชา มีประวัติศาสตร์ความเป็นมา ยาวนานกว่า 2,000 ปี ล่วงมาแล้ว จากหลักฐานพบว่า สร้างขึ้นมาตั้งแต่สมัยขอมเรืองอำนาจ ต่อมาปี พ.ศ. 2306 พระสุรินทร์ภักดีศรีณรงค์จางวาง เดิมเป็น หัวหน้าหมู่บ้านเมืองที ได้ย้ายเมืองมาตั้งใหม่ที่บ้านคูประทาย ปัจจุบันคือ บริเวณวัดจอมสุทธาวาส ตำบลเมืองที อำเภอเมืองที ห่างจากตัวจังหวัดสุรินทร์ประมาณ 16 กิโลเมตร

นอกจากนี้ ยังพบร่องรอยได้จากประสาทสมัยขอมปรากฏให้เห็นทั่วไป เมื่อขอมเสื่อมอำนาจลง สุรินทร์ จึงถูกทิ้งเป็นเมืองร้างมาจนกระทั่ง รัชสมัยของ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ได้โปรดเกล้าฯ ให้ หลวงพระสุรินทร์ภักดีศรีณรงค์จางวาง เป็นเจ้าเมืองปกครอง ในปี พ.ศ.2329

และให้เปลี่ยนชื่อเดิมจาก เมืองปะทายสมันต์ มาเป็น เมืองสุรินทร์ ตามสร้อยบรรดาศักดิ์ ของเจ้าเมืองคนแรก

ในอดีตหากจะกล่าวถึงจังหวัดสุรินทร์ มักจะนึกถึง แชมป์ดื่มสุราของประเทศกันเลยทีเดียว แต่จะอย่างไรก็ตาม
สุรินทร์ก็ยังมีของดี ๆ ที่คนทั่วไปนึกถึงคือ ช้าง ที่เป็นสัญลักษณ์ของจังหวัด ใครก็ตามที่ต้องการดูการแสดง ความสามารถของช้างเป็นโขลงใหญ่ เช่น ช้างเตะฟุตบอล ต้องมาเที่ยวงานช้างที่สุรินทร์ ในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนของทุกปี ช้างเมืองสุรินทร์เป็นสัตว์แสนรู้ ที่มีส่งไปยังจังหวัดต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวของประเทศในหลายจังหวัด ปัจจุบันนี้ ณ หมู่บ้านช้าง บ้านตากลาง ตำบลกระโพ อำเภอท่าตูม ยังคงมีการเลี้ยงและฝึกช้างพร้อมกับ มีการจัดตั้งศูนย์การศึกษาเกี่ยวกับช้าง เพื่อเป็นศูนย์รวมของคนกับช้าง และเป็นศูนย์ข้อมูลวัฒนธรรมท้องถิ่นอีกด้วย

จังหวัดสุรินทร์ยังมีมรดกทางวัฒนธรรมมาเป็นเวลานาน ที่เริ่มกลับมาได้รับความนิยมจากผู้ใช้ผ้าไหม มีชื่อเรียกว่า ผ้าโฮล ซึ่งเป็นผ้ามัดหมี่เอกลักษณ์ของเมืองสุรินทร์โดยแท้ และเป็นที่นิยม ย้อมด้วยสีธรรมชาติเท่านั้น ศิลปะการผลิตผ้าโฮลใช้จะถักทอจากเส้นไหมเท่านั้น ได้สืบต่อกันมาตั้งแต่สมัยขอมเรืองอำนาจจวบจนถึงปัจจุบัน


หากจะกล่าวว่าผ้าโฮล กำลังได้รับความนิยมนั้นไม่เกินความเป็นจริงเลย เนื่องจากสวมใส่สบาย และไม่ยับง่าย เป็นที่ถูกอกถูกใจของผู้ได้สวมใส่ทุกคน โดยหาซื้อได้ที่หมู่บ้านทอผ้าไหมบ้านนาตัง และบ้านเขวาสินรินทร์ ตำบลเขวาสินรินทร์ กิ่งอำเภอเขวาสินรินทร์ หรือหากไม่มีเวลาพอก็เลือกชม และหาซื้อจากร้านผ้าไหมในตัวเมืองสุรินทร์ได้ แต่ถ้าต้องการเรียนรู้ กระบวนการผลิตผ้าไหมพื้นบ้านแบบครบวงจร

เริ่มตั้งแต่การปลูกหม่อนเลี้ยงไหม สาวไหม ย้อมเส้นไหมด้วยสีธรรมชาติ การมัดหมี่ การทอผ้าไหม ก็ต้องไปที่สถานีทดลองหม่อนไหมสุรินทร์ สถาบันวิจัยหม่อนไหม กรมวิชาการเกษตร ซึ่งได้กลายเป็น สถานที่ท่องเที่ยวเชิงเกษตร พิพิธภัณฑ์ผ้าไหมไทย และห้องสมุดธรรมชาติ เพราะนอกจากจะได้ชม กิจกรรมดังกล่าวข้างต้นแล้ว ยังมีเรือนอนุรักษ์ที่อาคารพิพิธภัณฑ์ขนาดย่อม มีการจัดแสดงถึงสีธรรมชาติ ที่ใช้ย้อมผ้าไหมของชาวสุรินทร์ เช่น สีแดงที่ได้จากครั่ง สีน้ำเงินได้จากใบคราม สีเหลืองเข้มจากแก่นเข และสีเหลืองจากเปลือกประโหด การย้อมผสมสีจะเน้นการย้อมทีละสี

เมื่อตากแห้งสีที่หนึ่งแล้วจึงย้อมสีอื่นอีกครั้ง ส่วนเทคนิคการย้อมของผ้าโฮลจะใช้เพียง 5 สีหลัก เท่านั้นคือ สีแดงอมทอง สีเหลืองอมทอง สีเขียว สีฟ้า และสีม่วง นอกจากนี้ ยังมีห้องที่จัดแสดง การอนุรักษ์ลายผ้าพื้นเมืองสุรินทร์ไว้ให้ชม โดยเริ่มจากผ้าสาคู ที่ย้อมเส้นไหมเป็นสีแล้วทอสลับเส้น จะเป็นลายตารางขนาดใหญ่ ผ้าสระมอ เป็นผ้าที่ทำเช่นเดียวกับผ้าสาคู แต่ต่างกันที่ลวดลาย เป็นตารางที่เล็กกว่า บางครั้งเรียกผ้าสมอ เพราะลายคล้ายผลสมอ ผ้าอันลูนเสียม ภาษาเขมร หมายถึง ผ้าลายไทย ผ้าโฮล เป็นผ้ามัดหมี่ย้อมด้วยสีธรรมชาติเท่านั้น ซึ่งใช้กระสวยทอมากถึง 7 กระสวย ในขณะที่มัดหมี่ทั่วไปใช้กระสวยเพียง 1 กระสวยเท่านั้น และผ้าอัมปรม เป็นผ้ามัดหมี่ดั้งเดิมของโลก ที่ใช้การมัดหมี่ 2 ทาง ทั้งเส้นพุ่ง และเส้นยืน คาดว่าผ้าอัมปรมมีการถักทอกันมานานกว่า 2,000 ปีแล้ว ลักษณะของผ้าชนิดนี้จะเหมือนกับ ประกายดาวบนท้องฟ้าก็ไม่ผิด

นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของเกษตรท่องเที่ยว ภายในบริเวณที่สถานีทดลองหม่อนไหมสุรินทร์เท่านั้น ทั้งนี้ในอนาคตอันใกล้ ท่านจะได้พบกับกิจกรรม การผลิตหม่อนไหมไทยแท้ ๆ พร้อมภูมิทัศน์ที่สวยงาม ตามวัตถุประสงค์ร่วมกันของ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และกรมวิชาการเกษตร ที่ได้ร่วมมือ จัดให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงเกษตรกรรม พิพิธภัณฑ์ผ้าไหม และห้องสมุดธรรมชาติด้านหม่อนไหม ที่สมบูรณ์แบบที่สุดของประเทศไทย ท่านที่ไปสุรินทร์ครั้งใดอย่าลืมแวะเยี่ยมเยือน สถานีทดลอง หม่อนไหมสุรินทร์ ตั้งอยู่ที่ถนนสายสุรินทร์ - กระสัน - บุรีรัมย์ ห่างจากตัวเมืองเพียง 3.5 กิโลเมตร เท่านั้นเอง


แหล่งข้อมูล
วิโรจน์ แก้วเรือง
สถาบันวิจัยหม่อนไหม
ฉบับที่317 15/08/46