Home บทความ Free Zone ประเพณีลอยกระทง
ประเพณีลอยกระทง
น้ำ... เป็นปัจจัยสำคัญในการดำเนินชีวิตของมนุษย์ เรียกว่า มีบทบาทต่อเราในทุก ๆ ด้านตั้งแต่เกิดจนกระทั่งตายเลยก็ว่าได้ ดังนั้น คงจะไม่แปลกอะไร หากเราจะเรียกน้ำว่า เป็นผู้มีพระคุณที่ยิ่งใหญ่ของเรา และเพื่อเป็นการขอบคุณ และขอขมาในสิ่งที่เราได้ล่วงเกินต่อ

น้ำ... เป็นปัจจัยสำคัญ ในการดำเนินชีวิตของมนุษย์ เรียกว่า มีบทบาทต่อเราในทุก ๆ ด้าน ตั้งแต่เกิด จนกระทั่งตายเลยก็ว่าได้ ดังนั้น คงจะไม่แปลกอะไร หากเราจะเรียกน้ำว่า เป็นผู้มีพระคุณที่ยิ่งใหญ่ของเรา และเพื่อเป็นการขอบคุณ และขอขมา ในสิ่งที่เราได้ล่วงเกินต่อ ผู้มีพระคุณนี้ หลายแห่ง จึงได้มีการจัดงานประเพณีลอยกระทงขึ้น


การลอยกระทง เป็น ประเพณีที่มีมาแต่โบราณ สันนิษฐานว่า ได้มาจากอินเดีย ตามลัทธิความเชื่อ ของพราหมณ์ ว่าลอยกระทงเพื่อ การบูชา และขอขมาแม่พระคงคา การสะเดาะเคราะห์ การบูชาพระเจ้า คือ พระนารายณ์ ซึ่งบรรทมสินธุ์อยู่กลางเกษียรสมุทร อีกประการหนึ่ง ศาสนาพุทธเชื่อว่า การลอยกระทงเป็นการทำพิธี เพื่อต้อนรับพระพุทธเจ้า ในวันเสด็จจากเทวโลกสู่โลกมนุษย์ ภายหลังจากทรงเทศนาโปรด พุทธมารดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ บ้างก็ว่า เพื่อบูชารอยพระพุทธบาท ที่ทรงประทับไว้ ณ หาดทราย ริมฝั่งแม่น้ำนัมมหานที ในแคว้นทักขิณาบถ ของประเทศอินเดีย (ปัจจุบันเรียกว่า แม่น้ำเนรพุททา) บางท่านก็ว่า ลอยกระทง เพื่อขอบคุณพระแม่คงคา ที่ให้เราได้อาศัยน้ำกินน้ำใช้ และขออภัยพระแม่คงคา ที่ทิ้งสิ่งปฏิกูลต่าง ๆ ลงในน้ำ

แต่เดิม การลอยกระทง เป็นงานรื่นเริงของบุคคลทั่วไป แต่ เมื่อเป็นพิธีหลวง เรียก "พระราชพิธีจองเปรียง ลดชุดลอยโคมส่งน้ำ" ต่อมาเรียก "ลอยพระประทีป" การลอยกระทงนิยมทำกัน ในวันเพ็ญ เดือน 12 ของทุก ๆ ปี ซึ่งมักจะตรงกับ ช่วงเดือนพฤศจิกายน อันเป็นช่วงที่น้ำในแม่น้ำลำคลองขึ้นสูง และอากาศเริ่มเย็นลง โดยในปีนี้ งานจะมีขึ้นในวันที่ 16 พฤศจิกายน แต่บางแห่ง อาจเริ่มตั้งแต่วันที่ 11-16 พฤศจิกายน ตามพระราชนิพนธ์ พระราชพิธีสิบสองเดือน และตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ ได้กล่าวว่า นางนพมาศ หรือท้าวศรีจุฬาลักษณ์ พระสนมเอก ในพระร่วงเจ้า แห่งกรุงสุโขทัย เป็นผู้ริเริ่มประดิษฐ์กระทง สำหรับลอยประทีป เป็นรูปดอกบัวบานขึ้น ซึ่งคนทั่วไปนิยมทำตาม สืบต่อมา

ปัจจุบัน ประชาชนจะจัดทำกระทง เป็นรูปต่าง ๆ ด้วยใบตอง หรือกาบใบต้นพลับพลึง หรือวัสดุอื่น ๆ ประดับตกแต่ง กระทงให้สวยงาม ด้วยดอกไม้สด ในกระทงจะปักธูปเทียน บางทีก็ใส่สตางค์ หรือหมากพลูลงไปด้วย สมัยก่อนในพิธีลอยกระทง มีการเล่นสักวา เล่นเพลงเรือ และมีแสดง มหรสพประกอบงาน มีการประกวด นางนพมาศ ประกวด กระทง และร่วมกันลอยกระทง โดยจุดธูปเทียน กล่าวอธิษฐาน ตามที่ใจปรารถนา และปล่อยกระทงให้ลอยไปตามน้ำ

ในแต่ละปี ประเทศไทยมีการจัด ประเพณีลอยกระทงขึ้น ทุกพื้นที่ทั่วประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บริเวณที่ติดกับแม่น้ำลำคลอง หรือ แหล่งน้ำต่าง ๆ ซึ่งแต่ละพื้นที่ ก็จะมีเอกลักษณ์ที่น่าสนใจ แตกต่างกันไป

สำหรับในปีนี้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้ร่วมกับสถาบันการศึกษา และสมาคมเรือไทย จัดขบวนเรือประดับไฟฟ้า และทำการประดับตกแต่งไฟ ณ อาคารโบราณสถาน ริมแม่นำเจ้าพระยา รวม 12 แห่ง เพื่อเป็นการสร้างสีสัน ให้กับสายน้ำในช่วง ลอยกระทง

ในส่วนของกรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้จัดกิจกรรม จำลองบรรยากาศ พระราชพิธีจองเปรียง สดชุด และลอยโคม ซึ่งเป็นพระราชพิธี ที่มีการถือปฏิบัติ มาตั้งแต่ช่วงต้น สมัยรัตนโกสินทร์ โดยพระมหากษัตริย์ เสด็จทอด (ลอย) เรือพระที่นั่งจำลองขนาดเล็ก ซึ่งประดิษฐ์ขึ้น สำหรับใช้ใส่ตะครันเทียน เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา จากนั้นจะมีการจุดดอกไม้ไฟ ประเภทต่าง ๆ ทั้งบนฝั่ง และในน้ำ นอกจากนี้ ยังมีการแสดงทางวัฒนธรรม การประกวดนางนพมาศ การประกวดหนูน้อยนพมาศ

ในส่วนของการจัดงาน สำหรับประชาชนทั่วไป จะมีการนำกระทงประดิษฐ์ มาร่วมลอยกระทง ที่แม่น้ำ แต่ก็จะมีบางท้องถิ่น ที่จะมีกิจกรรมที่แสดง ลักษณะเฉพาะ ของตน เช่น งานประเพณียี่เป็ง จังหวัดเชียงใหม่ ความพิเศษของ ประเพณียี่เป็ง คือ การปล่อย "โคมลอย" ทั้งชนิด "โคมไฟ" และ "โคมควัน" ขึ้น

ซึ่งเชื่อว่า เป็นการบูชา พระธาตุจุฬามณี บนสวรรค์ การทำโคมลอย นับเป็นกิจกรรม ที่ต้องใช้ศิลปะ และเทคนิค เข้าช่วยเป็นอย่างมาก ผู้จัดทำจะต้องมีความชำนาญ การทำโคมลอยนั้น จะต้องใช้เทคนิควิทยาศาสตร์ เหมือนกับการทำบอลลูนของฝรั่ง โดยใช้กระดาษแก้ว หรือกระดาษสา ทำเป็นถุงลม รูปร่างต่างๆ ตามแต่จะคิดทำ ความเชื่อในการจัดทำโคมลอยนั้น ถือว่าเป็นการ นำเอาเคราะห์เอาโศก ลอยออกจากตัวเรา และบ้านเรือน หรืออีกนัยหนึ่ง อาจกล่าวได้ว่า เป็นการลอยเคราะห์ก็ได้

ประเพณีลอยกระทงสาย จังหวัดตาก เป็นประเพณีที่สะท้อนให้เห็น ถึงความร่วมมือร่วมใจ ของชาวบ้าน เนื่องจากกระทงสาย ที่ทุกคณะจะนำ กะลามะพร้าว จำนวนมาก คณะละนับพันใบ มาทำเป็นตัวกระทง มีไส้เป็นมะพร้าวแห้ง ชุบน้ำมัน หรือขี้เถ้า เพื่อให้ติดไฟได้ดี และทนทาน เมื่อคณะต่างๆ นำกระทงสายมาถึง
จะมีการร้องรำทำเพลง ทำให้ทั่วบริเวณนั้น สนุกสนานครึกครื้นเป็นอย่างยิ่ง แม่น้ำปิง ช่วงที่ไหลผ่าน หน้าเมืองตากนั้น ไม่ลึกนัก โดยมีพื้นล่างเป็นสันทราย โค้งเว้าเป็นรูปร่างต่าง ๆ สันทรายใต้น้ำ เหล่านี้เอง เป็นตัวบังคับให้สายน้ำ ไหลเลี้ยวคดโค้งวกวน ไม่เป็นเส้นตรง ดังนั้น หากปล่อยกระทง ลอยไปตรงสายน้ำ ที่เหมาะสม กระทงก็จะไหลคดโค้ง ไปตามแนวสายน้ำ ที่ถูกบังคับด้วยสันทรายเบื้องล่าง ยิ่งเป็นกระทงที่จุดไฟสว่างไสว ในยามค่ำคืนที่มืดมิด แนวของกระทงไฟ จะลอยคดโค้งไปตามกระแสน้ำ ก่อให้เกิดภาพอันสวยงาม

ในส่วนของจังหวัดสุโขทัย ได้ร่วมกับกรมศิลปากร และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กำหนดจัดงาน ประเพณีลอยกระทง เผาเทียนเล่นไฟ จังหวัดสุโขทัย ประจำปี 2548 ในระหว่างวันที่ 11-16 พฤศจิกายน 2548 โดยจะจัดงานออกเป็น 2 แห่ง ด้วยกัน คือ อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ซึ่งใช้เป็นสถานที่จัดงาน ในส่วนของประเพณีลอยกระทง ซึ่งเป็นในส่วนของ โซนวัฒนธรรม เช่นการแสดงแสง เสียง หมู่บ้านวัฒนธรรม ตลาดน้ำ การแสดงเห่เรือ และการแสดง ทางวัฒนธรรม เป็นต้น อีกสถานที่หนึ่ง คือบริเวณหน้าศาลากลาง จังหวัดสุโขทัย
ซึ่งจะจัดในส่วนของกิจกรรมบันเทิง สมัยใหม่ สินค้าหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ เทศกาลอาหารสุโขทัย และกิจกรรมอื่น ๆ อีกมากมาย จากสถานที่ ที่ใช้ในการจัดงาน และกิจกรรมที่ได้กล่าวมา ข้างต้นแล้ว ในวันที่ 12 พฤศจิกายน 2548 เวลา ประมาณ 15.00 น. การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้จัดการประกวด ขบวนแห่กระทงใหญ่ 17 จังหวัดภาคเหนือ ร่วมงานประเพณีลอยกระทงเผาเทียน เล่นไฟ จังหวัดสุโขทัย ประจำปี 2548 ด้วย เพื่อเป็นเพิ่มกิจกรรม ให้มีความหลากหลายมากขึ้น ซึ่งได้จัดเป็นประจำทุกปี

U & K

แหล่งข้อมูล
www.thaitrip.com
www.ku.ac.th
www.pop.co.th
www.ku.ac.th