ไฟเบอร์ เส้นใยมหัศจรรย์
"..ทุกๆปี จะมีผู้ป่วยที่มีอาการของโรคมะเร็งกว่า 11 ล้านคนทั่วโลก.." "..ประชากรอย่างน้อย 171 ล้านคนทั่วโลกป่วยเป็นโรคเบาหวาน.." "..ในแต่ละปีผู้ชาย 3.8 ล้านคน และผู้หญิง 3.4 ล้านคนทั่วโลกเสียชีวิตด้วยโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ.." สถิติเหล่านี้บอกอะไรเราบ้าง
"...ทุก ๆ ปี จะมีผู้ป่วยที่มีอาการของโรคมะเร็งกว่า 11 ล้านคนทั่วโลก มีการประมาณการกันว่า ตัวเลขดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นเป็น 16 ล้านคนภายในปี 2020 จากการศึกษาพบว่า มีผู้เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งประมาณปีละ 7 ล้านคนหรือคิดเป็น 12.5% ของการเสียชีวิตทั่วโลก..."

"...ประชากรอย่างน้อย 171 ล้านคนทั่วโลกป่วยเป็นโรคเบาหวาน ซึ่งตัวเลขนี้อาจเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าภายในปี 2030..."

"...ในแต่ละปีผู้ชาย 3.8 ล้านคน และผู้หญิง 3.4 ล้านคนทั่วโลกเสียชีวิตด้วยโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ..."

สถิติเหล่านี้บอกอะไรเราบ้าง?

"พฤติกรรมการบริโภค" คือหนึ่งในสาเหตุหลักที่ทำให้โรคร้ายเหล่านี้ แวะมาเยี่ยมเยียน พวกเราอยู่เสมอ ๆ หากยังจำกันได้ เมื่อไม่นานมานี้ในประเทศไทย ได้มีการรณรงค์ให้รับประทานอาหารแบบ "ผักครึ่งหนึ่ง อย่างอื่นครึ่งหนึ่ง" ซึ่งเป็น การชี้ให้เห็นว่าผักและผลไม้ มีความสำคัญต่อร่างกายไม่น้อยกว่าอาหารชนิดอื่น เพราะนอกจาก จะอุดมไปด้วย วิตามินและเกลือแร่ อย่างที่ทุกคนเข้าใจแล้ว ผักผลไม้ยังอุดมไปด้วย เส้นใยอาหาร ที่มีคุณค่ามหาศาลต่อสุขภาพของเรา

ไฟเบอร์หรือเส้นใยอาหารสามารถแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม คือ ไฟเบอร์ที่ละลายน้ำได้ (Soluble fiber) และไฟเบอร์ที่ไม่ละลายน้ำ (Insoluble fiber)

Soluble fiber จะมีลักษณะเป็นเจลใส เมื่อละลายน้ำจะเห็นเป็นเมือกหรือขุ่น คล้ายยาง พบมากในผลไม้และพืชตระกูลถั่วและข้าวโอ๊ต สำหรับแหล่งไฟเบอร์ละลายน้ำ ของคนไทยที่ดี ราคาไม่แพง และหาง่ายคือ เม็ดแมงลัก ที่ผสมในน้ำแข็งใสหรือไอศกรีม ในขณะที่ Insoluble fiber จะเห็นเป็นกากใยเพราะไม่ละลายน้ำ พบมากในข้าวซ้อมมือ และรำข้าวทุกชนิด เสี้ยนผักต่าง ๆ ที่เรากินในชีวิตประจำวันก็มีไฟเบอร์แบบไม่ละลายน้ำ

เมื่อเรากินผักผลไม้เข้าไป ร่างกายจะปล่อย กรดในกระเพาะอาหาร มาย่อยอาหาร และจะมีอาหารบางส่วนที่ถูกย่อยที่ลำไส้เล็ก เหลือทิ้งไว้แต่ไฟเบอร์เป็นกากอาหาร ซึ่งเดิม เราคิดว่าไร้ประโยชน์ แต่ในความเป็นจริงแล้วแม้ไฟเบอร์จะไม่ถูกย่อย โดยน้ำย่อย หรือดูดซึมในกระเพาะอาหารและลำไส้ แต่เมื่อเดินทางถึงลำไส้ใหญ่ ไฟเบอร์เหล่านี้ จะถูกแบคทีเรียจำนวนมากย่อยสลายกลายเป็นสารเคมีบางชนิด ที่ร่างกายสามารถดูดซึม ไปใช้ประโยชน์ได้

ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ค้นพบว่าสารเหล่านี้ อาจมีบทบาทในการลดปริมาณ คอเรสเตอรอล และลดความเสี่ยงจากมะเร็งหลายชนิด

เมื่อกินอาหารที่มีไฟเบอร์ ไฟเบอร์ที่ละลายน้ำได้ จะเคลือบผิวกระเพาะอาหาร โดยทำปฏิกิริยากับกรดในกระเพาะอาหาร ได้สารข้นจำพวกเจลาติน ทำให้รู้สึกอิ่มเร็ว และอิ่มนาน ความอยากอาหารลดลง จึงมีประโยชน์กับผู้ที่ต้องการลดความอ้วน
นอกจากนี้เมือกในไฟเบอร์ชนิดละลายน้ำ ยังทำหน้าที่ขัดขวาง การดูดซึมของคอเรสเทอรอล ผ่านผนังลำไส้อีกด้วย

ส่วนไฟเบอร์ชนิดไม่ละลายน้ำ จะไม่ทำปฏิกิริยากับกรด ในกระเพาะอาหาร จึงเป็นเสมือนกากอาหารที่ช่วยเติม กระเพาะให้เต็ม ทำให้อาหารหนึ่งมื้อมีกากมากและพลังงานลดลง เราจึงรับประทานได้เท่าเดิมแต่อ้วนน้อยลง นอกจากนั้น ไฟเบอร์ ยังช่วยขัดขวางการดูดซึมของ ไขมันและคอเรสเทอรอลด้วย

กากใยอาหารที่หลงเหลือยังทำให้ มีปริมาณอุจจาระมาก แถมยังช่วยดูดน้ำเข้าไว้ในตัวอีก ดังนั้นไฟเบอร์ที่หลงเหลืออยู่ในทางเดินอาหาร จึงกระตุ้นให้อยากถ่ายเร็วขึ้น ของเสียทั้งหลายก็ถูกปลดปล่อยพ้นร่างกายไป ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันทั่วโลกว่า การที่เราถ่ายเร็วขึ้นมีผลทำให้ช่วงเวลาที่สารพิษ และสารกระตุ้นมะเร็งในอุจจาระสัมผัสกับผนังลำไส้มีน้อยลงด้วย โอกาสเสี่ยงจาก มะเร็งลำไส้ใหญ่จึงลดลง อย่างไรก็ตามอย่าลืมว่าไฟเบอร์ที่ละลายน้ำได้ จะมีคุณสมบัติ ดูดซึมน้ำ ดังนั้นจึงควรดื่มน้ำแก้วใหญ่วันละ 6-8 แก้ว


แหล่งข้อมูล :
http://www.who.org