ประเพณีสงกรานต์
Article Index
ประเพณีสงกรานต์
หน้า #
หน้า #
หน้า #
หน้า #
All Pages
อากาศร้อนๆ แบบนี้ ถ้าได้แช่ตัวในอ่างน้ำเย็นสักพัก หรือว่ายน้ำในทะเลสวยๆ ที่ไหนสักแห่ง และจิบเครื่องดื่มเย็นๆ สักแก้ว ก็คงจะทำให้รู้สบายไม่น้อย แต่วิธีนี้ อาจจะเป็นการคลายร้อน แบบธรรมดาไปหน่อย ดังนั้นหากคุณอยากจะเปลี่ยนบรรยากาศดูบ้าง ลองมาดับร้อนกับเราซิค่ะ รับรองว่า ซัมเมอร์นี้จะตราตรึงในความทรงจำของคุณไปอีกนานแน่นอน

อากาศร้อนๆ แบบนี้ อาจจะทำให้ ใครหลายๆ คนรู้สึกหงุดหงิด อยู่ใช่ไหมละค่ะ เพราะแค่ขยับนิด ขยับหน่อย เหงื่อก็ออกแล้ว แถมยังทำให้ตัวเหม็น เหนียวเนอะหนะด้วย มิหนำซ้ำเจ้าแดดแรงๆ ยังคอยจ้อง จะเล่นงาน ผิวสวยๆ ของคุณอีกต่างหาก

แต่อย่างไรก็ตาม ดิฉันก็เชื่อว่า คงยังมีอีกหลายคน เช่นกันที่เฝ้ารอ ให้หน้าร้อนมาถึงไวๆ เพราะนอกจาก จะเป็นช่วงปิดภาคเรียนระยะยาว หรือมีวันหยุด หลายวันแล้ว หนุ่ม ๆ สาวๆ บางคน ยังถือโอกาส อวดหุ่นสวยๆ ด้วยชุดว่ายน้ำ คอลเล็คชั่นใหม่ ๆ อีกด้วย นอกจากนี้ อาหารบางชนิด อย่างไอศครีม และเครื่องดื่มเย็น ๆ ถ้าจะให้อร่อยแล้วละก็ ซัมเมอร์นี่แหละเหมาะที่สุด

แต่สำหรับคุณๆ ที่เบื่อหน่าย กับกิจกรรมซ้ำซาก ดังกล่าว เราก็มีกิจกรรมดีๆ มีสาระมาฝากกัน เผื่อว่า จะทำให้ซัมเมอร์ของคุณ สนุกและมีคุณค่าขึ้นบ้างก็ได้

กิจกรรมที่ว่าก็คือ การสืบทอดเทศกาลสงกรานต์ แม้หลายคน อาจจะบอกว่าธรรมดา ไปหน่อย เพราะใครๆ ก็รู้จักวันสงกรานต์ แถมยังเล่นสาดน้ำกันทุกปี แล้วรู้หรือไม่ว่า จริงๆ แล้ว วันสงกรานต์ มีประวัติความเป็นมา สำคัญ และมีคุณค่าต่อเราอย่างไร เราควรจะทำอะไร ในวันสงกรานต์บ้าง ถ้ายังไม่รู้ละก็ ตามเรามาเลย


"สงกรานต์" เป็นภาษาสันสกฤต แปลว่า ผ่าน หรือเคลื่อนย้ายเข้าไป หมายถึง เวลาที่ดวงอาทิตย์ เคลื่อนจากราศีหนึ่ง ไปสู่อีกราศีหนึ่ง ทุกๆ เดือน ยกเว้น เมื่อย้ายจากราศีมีน สู่ราศีเมษ จะเรียกชื่อพิเศษว่า "มหาสงกรานต์" เพราะเป็นวันขึ้นปีใหม่ ตามความเชื่อ ของอินเดียฝ่ายเหนือ และไทยก็รับคติความเชื่อ เกี่ยวกับวันขึ้นปีใหม่นี้ มาใช้เช่นกัน แต่จะเรียกว่า "สงกรานต์" เท่านั้น

การกำหนด วันขึ้นปีใหม่ แต่เดิมของไทย ใช้วิธีนับทางจันทรคติ ดังนั้น แต่ละปีจะไม่ตรงกัน จนถึงสมัยรัชกาลที่ ๕ ได้กำหนดให้ วันที่ ๑ เมษายน เป็นวันขึ้นปีใหม่ ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๓๒ และได้เปลี่ยนแปลง อีกครั้งหนึ่ง ในปี พ.ศ.๒๔๘๔ โดยกำหนดวันขึ้นปีใหม่ ตรงกับวันที่ ๑ มกราคม ตามหลักสากล ส่วนวันสงกรานต์ กำหนดให้มี ๓ วัน คือวันที่ ๑๓ - ๑๔ - ๑๕ เมษายน ของทุกปี มีชื่อเรียกว่า วันมหาสงกรานต์ วันเนา และวันเลิงศก ตามลำดับ ในแต่ละภูมิภาค มีชื่อเรียกวันดังกล่าว และมีพิธีกรรม แตกต่างกัน ตามคติความเชื่อ ของแต่ละท้องถิ่น



ตามปกติ เราจะเรียกวันที่ ๑๓ เมษายนว่า "วันมหาสงกรานต์" วันที่ ๑๔ เมษายน ว่า "วันเนา" และวันที่ ๑๕ เมษายนว่า "วันเถลิงศก" เพื่อให้จำได้ง่าย แต่ในประกาศสงกรานต์ ซึ่งเป็นการคำนวณ ทางโหราศาสตร์ วันมหาสงกรานต์ อันเป็นวันที่พระอาทิตย์ เคลื่อนสู่ราศีเมษ และเป็นวันบ่งบอกว่า นางสงกรานต์ปีนั้นชื่ออะไร อาจจะไม่ตรงกับวันที่ ๑๓ เมษายน เสมอไป ทั้งนี้ ขึ้นกับการคำนวณดังกล่าว วันมหาสงกรานต์ หมายถึง วันที่พระอาทิตย์โคจร ไปสุดราศีมีน จะย่างเข้าสู่ราศีเมษอีกครั้ง หลังจากผ่านเข้าสู่ราศีอื่นๆแล้วจนครบ ๑๒ เดือน

ในแง่ของโหราศาสตร์แล้ว วันนี้ควรจะเรียกว่า วันเนา แปลว่า วันอยู่ เป็นวันที่ดวงอาทิตย์ เคลื่อน เข้าสู่ราศีเมษ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการออกเสียงแล้ว ทั่วไปมักเรียก"วันเน่า" ทำให้เกิดความคิด ที่ห้ามการกระทำ สิ่งที่ไม่เป็นมงคล โดยเฉพาะ ห้ามการด่าทอ ทะเลาะวิวาทกัน กล่าวกันว่าผู้ใดที่ด่าทอ ผู้อื่นในวันนี้แล้ว ปากของผู้นั้นจะเน่า และหากวิวาทกันในวันนี้ บุคคลผู้นั้น จะอัปมงคลไปตลอดปี นอกจากนี้ในวันเนา ชาวบ้าน จะพากันไปซื้อของ เพื่อกินและใช้ ในวันเถลิงศก พอถึงตอนบ่ายจะมีการขนทรายเข้าวัด กองรวมกันทำเป็นเจดีย์ทราย ซึ่ง การขนทรายเข้าวัดนี้ ถือว่าเป็นการนำทราย มาทดแทนส่วนที่ติดเท้า ของตน เมื่อออกจากวัด ซึ่งเหมือนกับการโขมย

เป็นวันเริ่มต้น จุลศักราชใหม่ ผู้คนจะไปทำบุญ ทางศาสนา ตั้งแต่เวลาเช้าตรู่ แต่ละครอบครัว จะนำเอาสำรับอาหาร หวานคาวต่าง ๆ ไปถวายพระตามวัด เพื่ออุทิศส่วนกุศล ให้แก่บรรพบุรุษ หรือญาติมิตร ที่ล่วงลับไปแล้วด้วย นอกจากนี้ บางคนอาจนำสำรับอาหาร ไปมอบให้แก่ บิดามารดา ปู่ย่า ตายาย ผู้เฒ่าผู้แก่ หรือผู้ที่ตน เคารพนับถือ จากนั้นจะนำธง ซึ่งได้เตรียมไว้ ไปปักบนเจดีย์ทราย ทั้งนี้ มีคติว่า การทานทุง หรือธงนั้น มีอานิสงส์ สามารถช่วยให้ ผู้ตายที่มีบาปหนัก ถึงตกนรกนั้น สามารถพ้น จากขุมนรกได้ ในวันนี้ บางท่าน อาจจะเตรียมไม้ง่าม ไปถวาย สำหรับค้ำต้นโพ ซึ่ง ถือคติว่า เพื่อเป็นสัญลักษณ์ ในการจะช่วยกันค้ำจุน พระศาสนา ให้ยืนยาวต่อไป เสร็จแล้วก็จะมีการสรงน้ำ ทั้งพระพุทธรูป สถูปเจดีย์ รวมทั้งสรงน้ำ พระภิกษุสงฆ์ด้วย ส่วนในตอนบ่าย จะมีการไป ดำหัวหรือ ไปคารวะผู้เฒ่าผู้แก่ บิดามารดา ญาติพี่น้องผู้อาวุโส หรือผู้มีบุญคุณ หรือผู้ที่เคารพนับถือ เพื่อเป็นการ ขอขมาและผู้ใหญ่ก็จะให้พร



กล่าวไว้ว่า ก่อนพุทธกาล มีเศรษฐีครอบครัวหนึ่ง อายุเลยวัยกลางคนแล้ว แต่ก็ยังไร้ทายาท สืบสกุล จึงสร้างความทุกข์ใจให้ตัวเองเป็นอันมาก นอกจากนี้ ข้างรั้วบ้านเศรษฐี ยังมีครอบครัวหนึ่ง หัวหน้าครอบครัว เป็นนักเลงสุรา ถ้าวันไหนร่ำสุราสุดขีด ก็จะพูดเสียงดัง แสดงวาจาเยาะเย้ยเศรษฐี สบประมาท ในความมีทรัพย์มาก แต่ไร้ทายาทสืบสมบัติเสมอ

วันหนึ่งเศรษฐีจึงถามชายผู้นั้นว่า มีความขุ่นเคืองอะไร จึงแสดงอาการเยาะเย้ย และสบประมาท เฒ่านักดื่มจึงตอบว่า " ถึงท่านมั่งมีสมบัติมากก็จริง แต่เป็นคนมีบาปกรรมท่าน จึงไม่มีบุตร ตายไปแล้ว สมบัติก็ตกเป็นของผู้อื่นหมด สู้เราไม่ได้ถึงแม้จะยากจน แต่ก็มีบุตรคอยดูแลรักษา ยามเจ็บไข้ และรักษาทรัพย์สมบัติ เมื่อเราสิ้นใจ"

นับแต่นั้นมา เศรษฐียิ่งมีความเสียใจ จึงพยายาม ไปบวงสรวงพระอาทิตย์ และพระจันทร์ เพียรพยายามตั้งจิต อธิษฐานขอบุตร ทำเช่นนี้ เป็นเวลาติดต่อกัน ถึงสามปี ก็ไม่ได้บุตรดัง ที่ตนปรารถนา จนวันหนึ่ง เป็นวันนักขัตฤกษ์สงกรานต์ ท่านเศรษฐี ก็พาข้าทาสบริวารของตน มาที่โคนต้นไทรใหญ่ ต้นหนึ่ง ที่อยู่บนฝั่งแม่น้ำ อันเป็นที่อาศัยของนกทั้งหลาย ท่านเศรษฐี ให้บริวาร ล้างข้าวสาร ด้วยน้ำสะอาด ถึง 7 ครั้ง แล้วจึงหุงข้าวสารนั้น เมื่อสุกแล้ว ยกขึ้นบูชาพระไทร เทพเหล่านั้น เกิดความสงสาร จึงขึ้นไปเฝ้า พระอินทร์ ทูลขอบุตรแก่เศรษฐี พระอินทร์ จึงบัญชา ให้เทพบุตรองค์หนึ่งชื่อ "ธรรมบาล" ลงมาเกิดใน ครรภ์ ของภรรยาเศรษฐี เมื่อครบกำหนด ภรรยาเศรษฐี ก็คลอดบุตรเป็นชาย เศรษฐีจึงตั้งชื่อว่า ธรรมบาลกุมาร

เพื่อตอบสนอง พระคุณเทพเทวา เศรษฐี จึงสร้างปราสาทสูง 7 ชั้น ถวายเทพต้นไทร เมื่อธรรมบาลกุมาร เจริญวัยขึ้น เป็นเด็กที่มีปัญญา เฉียบแหลม รอบรู้ และวัยเพียง 7ขวบก็เรียนจบ ไตรเพท

จนกระทั่ง "ท้าวกบิลพรหม" ซึ่งเป็นเทพองค์หนึ่ง ได้ยินกิตติศัพท์ ทางสติปัญญา อันยอดเยี่ยม ของเด็กน้อย จึงคิดทดลองภูมิปัญญาโดยการเอาชีวิตเป็นเดิมพัน จึงถามปัญหา 3 ข้อ ถ้ากุมารน้อย แก้ปัญหาทั้ง 3 ข้อได้ กบิลพรหม จะตัดศีรษะของตนบูชา ถ้าธรรมบาลแก้ไม่ได้ ก็จะต้องเสียหัว เพื่อยอมรับความพ่ายแพ้ ปัญหานั้นมีว่า

1. ตอนเช้าราศีคนอยู่แห่งใด

2. ตอนเที่ยงราศีของคนอยู่แห่งใด

3. ตอนค่ำราศีของคนอยู่แห่งใด

เมื่อได้ฟังปัญหาแล้ว ธรรมบาล ไม่อาจทราบคำตอบ ในทันทีได้ จึงผลัดวันตอบปัญหา ไปอีก 7 วัน ครั้นเวลาล่วงจากนั้นไป 6 วัน ธรรมบาลกุมาร ก็ยังคิดหาคำตอบ ปัญหานั้นไม่ได้ จึงหลบออกจาก ปราสาท หนีเข้าป่า และไปนอนพักเอาแรง ใต้ต้นตาล ขณะนั้นบนต้นตาล มีนกอินทรีคู่หนึ่งอาศัยอยู่ นางนกถามสามีว่า "พรุ่งนี้เราจะไปหาอาหารที่ไหน" นกสามีก็ตอบว่า "พรุ่งนี้เราไม่ต้องบินไปไกล เพราะจะได้กินเนื้อธรรมบาลกุมาร ซึ่งจะถูกท้าวกบิลพรหมตัดหัว เนื่องจากแก้ปัญหาไม่ได้" นางนกถามว่า "ปัญหานั้นว่าอย่างไร" นกสามีตอบว่า ปัญหามีอยู่ 3 ข้อ และหมายถึง

ข้อหนึ่ง ตอนเช้าราศีของมนุษย์ อยู่ที่หน้า คนจึงต้องล้างหน้า ทุกๆ เช้า

ข้อสอง ตอนเที่ยงราศี คนอยู่ที่อก มนุษย์ จึงต้องเอาเครื่องหอม ประพรมที่อก

ข้อสาม ตอนค่ำราศีคนอยู่ที่เท้า มนุษย์จึงต้องล้างเท้า ก่อนเข้านอน

ธรรมบาลกุมาร ได้ยินการไขปัญหา ของนกอินทรี และจำจนขึ้นใจ ทั้งนี้เพราะธรรมบาล รู้ภาษานก จึงกลับสู่ปราสาท รุ่งขึ้นเป็นวันครบกำหนด แก้ปัญหา ท้าวกบิลพรหมมาฟังคำตอบ ธรรมบาลกุมาร กล่าวแก้ปัญหา ตามที่นกอินทรี คุยกันทุกประการ ท้าวกบิลพรหม จึงเรียกธิดาทั้ง 7 ของตน อันเป็นบริจาริกา คือหญิงรับใช้ ของพระอินทร์มาพร้อมกัน แล้วบอกว่า ตนจะตัดเศียรบูชา ธรรมบาลกุมาร แต่ถ้าเอาศีรษะพ่อ วางไว้บนแผ่นดิน ก็จะลุกไหม้ไปทั้งโลก ถ้าจะโยนขึ้นไปบนอากาศ อากาศจะแห้งแล้ง ฟ้าฝนจะหายไปสิ้น ถ้าทิ้งลงไปในมหาสมุทร น้ำในมหาสมุทร จะแห้งแล้งไปเช่นกัน จึงสั่งให้นางทั้ง 7 คน เอาพานมารองรับศีรษะ แล้วจึงตัดศรีษะ ส่งให้นางทุงษธิดาคนโต นางทุงษ จึงเอาพานรับเศียรบิดา ไว้แล้วแห่ประทักษิณรอบเขาพระสุเมรุ 60 นาที จากนั้นจึงอัญเชิญ ไปไว้ในมณฑปถ้ำคันธุรลี ณ เขาไกรลาส บูชาด้วยเครื่องทิพย์ พระเวสสุกรรมก็เนรมิต โรงประดับด้วยแก้ว 7 ประการ ชื่อภควดี ให้เป็นที่ประชุมเทวดา เทวดาทั้งปวง ก็เอาเถาฉมูนวด ลงมาล้างในสระอโนดาต 7 ครั้ง แล้วก็แจกกันเสวยทุกๆ องค์ ครั้นครบ 365 วัน โลกสมมุติว่าเป็นหนึ่งปี เป็นสงกรานต์ธิดา 7 องค์ของเท้ากบิลพรหมก็ผลัดเวรกัน มาเชิญพระเศียร ของพระบิดาออกแห่ ประทักษิณ รอบเขาพระสุเมรุทุกปี แล้วจึงกลับไปเทวโลก



ก่อนวันสงกรานต์ เป็นวันทำความสะอาด บ้านเรือน ชำระล้างสถานที่ สิ่งของเครื่องใช้ ทุกอย่างให้ สะอาดหมดจด เพื่อจะได้ต้อนรับปีใหม่ ด้วยความแจ่มใสเบิกบานและ ตระเตรียมข้าวของ ไว้สำหรับทำบุญ และเมื่อวันสงกรานต์มาถึง แต่ละครอบครัว ก็จะไปร่วมกัน ประกอบกิจกรรมต่างๆ ดังนี้คือ

1.ทำบุญตักบาตร เพื่อให้เกิดสิริมงคลแก่ชีวิต สมัยก่อน พ่อแม่จะเตรียม เสื้อผ้าชุดใหม่ ให้ลูกหลาน พร้อมเครื่องประดับ สำหรับตกแต่งไปทำบุญ ลูกหลานจะเตรียมเสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม ให้พ่อแม่ ปู่ ย่า ตา ยาย ได้สวมใส่ หลังพิธีรดน้ำดำหัว ซึ่งเป็นความรัก ความห่วงใย อันเกิดจากน้ำใสใจจริง ที่สมาชิกในครอบครัว จะพึงให้แก่กัน

2.ปล่อยนกปล่อยปลา อันเป็นวิธีการสร้างความเมตตา คนไทยมีความเชื่อว่า การปล่อยนก ปล่อยปลา ถือว่าเป็นการล้างบาปบางส่วนที่ตนเป็นผู้ก่อ อีกทั้ง ทำให้เคราะห์ร้าย ที่จะเกิดขึ้นหมดไป

3.ให้ทานแก่ผู้ที่ขัดสน เช่น คนชรา เด็กพิการ เด็กกำพร้า เป็นต้น ซึ่งการให้ทาน ถือเป็นการเกื้อกูลสูงสุด ของมนุษยชาติ เป็นการเอื้ออาทร ซึ่งกันและกัน

4.สรงน้ำพระ แบ่งออกเป็น 2 อย่าง ได้แก่ การสรงน้ำพระพุทธรูป และการสรงน้ำพระภิกษุ

5. เมื่อถึงวันสงกรานต์ ทุกคนจะกลับบ้าน ไปหาพ่อแม่ ญาติผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ เพื่อรดน้ำขอพร และขอขมาสิ่งที่อาจจะล่วงเกินผู้ใหญ่ ในบางครั้ง อีกทั้งเพื่อเป็นการแสดง ถึงความกตัญญูกตเวที ต่อบุพการี ญาติผู้ใหญ่ และผู้มีพระคุณอีกด้วย

นอกจากนี้ยังมีการระลึกถึงบรรพบุรุษ ด้วยการประกอบพิธีบังสกุลอัฐิ อุทิศส่วนกุศล ให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว เพื่อขอให้อานิสงส์ แห่งผลบุญ ดังกล่าว ช่วยให้ผู้ตาย ได้อยู่ในภพภูมิ ที่ดียิ่งขึ้น

6.การละเล่นสาดน้ำ ประเพณีนี้ถือว่า เป็นสัญลักษณ์ ของวันสงกรานต์เลยทีเดียว ด้วยงานฉลอง วันสงกรานต์นั้น เป็นช่วงฤดูร้อน ประเพณี เริ่มจากการ ที่มีการสรงน้ำพระ และรดน้ำญาติผู้ใหญ่ เพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ กับญาติมิตรสหาย การเล่นสาดน้ำ นั้น นิยมกันในหมู่ของหนุ่มสาว น้ำที่ใช้สาดกันนั้น จะใส่น้ำอบน้ำหอม แต่ในปัจจุบัน ประเพณีอันดีงาม อันนี้ได้จางหายไปตามกาลเวลา และยุคสมัย ในปัจจุบันมีการสาดน้ำกันอย่างรุนแรง รวมถึงได้มีการนำอุปกรณ์ต่าง ๆ เข้ามาใช้ในการละเล่นสาดน้ำมากขึ้นด้วย



๑.คุณค่าต่อครอบครัว ทำให้สมาชิกของครอบครัว ได้มีโอกาสมาอยู่รวมกัน เพื่อแสดงความ กตัญญูกตเวที เช่น ลูก-หลาน มารดน้ำ ขอพรจากบิดา มารดา ปู่ย่า ตายาย และมอบของขวัญ ให้แก่ท่านเหล่านั้น รวมทั้งมีความกตัญญูกตเวทีต่อบรรพบุรุษที่ ล่วงลับไปแล้ว ด้วยการทำบุญอุทิศ ส่วนกุศลไปให้

๒. คุณค่าต่อชุมชน ทำให้เกิดความสมัครสมานสามัคคี ในชุมชน เช่น ร่วมกันทำบุญให้ทาน พบปะสังสรรค์สนุกสนาน รื่นเริงร่วมกัน

๓. คุณค่าต่อสังคม ทำให้มีความเอื้ออาทรต่อสิ่งแวดล้อม ด้วยการ ช่วยกันทำความสะอาดบ้านเรือน วัดวาอาราม ที่สาธารณะ ตลอดจน อาคารสถานที่ของหน่วยงานต่าง ๆ

๔. คุณค่าต่อศาสนา ช่วยกันทำนุบำรุงพระศาสนา คือ การทำบุญ ตักบาตร หรือเลี้ยงพระ การปฏิบัติธรรมฟังเทศน์ การสรงน้ำพระ

ความงดงาม ของประเพณีสงกรานต์ ที่เป็นคุณค่า ทางวัฒนธรรม ดังกล่าว เปรียบเสมือนสายใย ความผูกพันแห่งอดีต กับปัจจุบัน ซึ่งแสดงถึง ความเป็นไทยอย่างแท้จริง ทว่ากำลังจะถูกลบเลือนไป กิจกรรมหลายอย่าง ได้ถูกยกเลิก ความเอื้ออาทร ความห่วงใย และความปรารถนาดี ที่จะให้ผู้อื่น มีความสุข โดยการประพรมน้ำ ถูกแทนที่ด้วยการขว้างปา กิริยาก้าวร้าวรุนแรง ไม่สนใจ ในความเจ็บปวด และอุบัติเหตุที่จะเกิดขึ้น พิธีกรรมอันเคยสง่างาม ถูกบีบรัดด้วยความรีบร้อน ให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว

คงจะเป็นไปไม่ได้ ที่เราจะเรียกร้องให้ ทุกสิ่งทุกอย่างในอดีต กลับคืนมาสู่ยุคปัจจุบัน หากเพียงแต่ เราจะเริ่มต้นด้วยการแบ่งปัน ความเอื้ออาทร ให้กันและกัน พิเคราะห์ดูความงามของ ประเพณีสงกรานต์ ที่แท้จริง และเลือกสรรนำมาปฏิบัติ ให้เหมาะกับยุคสมัย เท่ากับว่าเราเป็นผู้หนึ่ง ที่จรรโลงประเพณีสงกรานต์ ด้วยความหมายที่แท้จริง ให้อยู่คู่กับสังคมไทย สืบต่อไป

U&K

แหล่งข้อมูล :
www.thaiculturalcenter.com
http://archaeology.thai-archaeology.info
www.songkran.net
www.thailife.de